หลังการทำแผล ผู้ป่วย ควรดูแลรักษาความสะอาดและสังเกตอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วง ระหว่างการพักฟื้น เพราะเมื่อเกิดบาดแผลขึ้น ย่อมเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อตามมาได้ แม้บาดแผลจะมีความสะอาด แต่บริเวณอวัยวะที่เกิดแผลอาจเป็นแหล่งที่อยู่ของ แบคทีเรีย จำนวนมาก ซึ่งเพิ่มโอกาสในการติดเชื้อได้ง่าย
หลังเกิดแผล หรือแม้แต่หลังทำแผลแล้ว ผู้ป่วยอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนดังต่อไปนี้
- โรคเซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ (Cellulitis) เป็นโรคติดเชื้อของผิวหนังและเนื่อเยื่อใต้ผิวหนังชนิดที่ยังไม่ทำให้เกิดเนื้อตาย และหากมีการติดเชื้อรุนแรงก็อาจเสี่ยงทำให้เนื้อเยื่อเน่าหรือตายได้
- โรคหนังเน่า (Gas Gangrene) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลอสทริเดีย (Clostridia)
- การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคบาดทะยัก หากไม่ได้รับวัคซีนป้องกันอย่างเหมาะสม
ดังนั้น ผู้ป่วยควรสังเกตอาการที่เป็นสัญญาณของการติดเชื้อ แล้วรีบไปพบแพทย์หากมีอาการเหล่านี้
- แผลไม่ดีขึ้นแม้เวลาผ่านไป
- บาดแผลมีเลือดไหลออกมาเรื่อย ๆ
- แผลมีอาการบวมเพิ่มขึ้น
- แผลมีอาการแดงและขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รอบแผล หรือมีรอยแดงเกิดขึ้นตามผิวหนังรอบ ๆ แผล
- เกิดความเจ็บปวดแม้หลังรับประทานยาแก้ปวดแล้ว หรือความเจ็บปวดนั้นขยายออกไปเป็นวงกว้างจากบาดแผลเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
- บาดแผลมีสีคล้ำและแห้ง ขยายขนาดใหญ่ขึ้น หรือมีความลึกมากขึ้น
- มีเลือดหรือหนองไหลออกมาจากแผล
- มีหนองสีเขียว เหลือง หรือสีน้ำตาล และหนองที่เกิดขึ้นนั้นส่งกลิ่นเหม็น
- มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ยาวนานเกินกว่า 4 ชั่วโมง
- มีก้อนที่กดแล้วเจ็บเกิดขึ้นบริเวณรักแร้หรือขาหนีบซึ่งเป็นเพราะต่อมน้ำเหลืองโตจากการติดเชื้อลุกลาม